โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน นสพ.ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ทัศนะ
วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ศาสนาพุทธและพระสงฆ์ รวมตลอดทั้งกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรศาสนา เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ และที่สำคัญก็คือ คำสอนในศาสนาพุทธรวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าได้ทำหน้าที่กล่อมเกลาเรียนรู้ในทางสังคม สร้างค่านิยมและแบบกระสวนของพฤติกรรมให้กับคนในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง พุทธศาสนามีผลสำคัญต่อโครงสร้างทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสอดคล้องของคำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่กล่าวเน้นโดยพระสงฆ์อาจจะเกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา เนื่องจากคนในสังคมยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมจะมีวิธีการมองประเด็นปัญหาแตกต่างไปจากสังคมเดิม
ความวิตกวิจารณ์ที่ออกมาในรูปของการแสดงความคิดเห็น หรือในแง่การเขียนบทความก็คือ คนไทยทุกวันนี้ห่างเหินวัด ความหมายที่แท้จริงก็คือว่าคนไทยห่างจากศาสนาเพราะมัวสาละวนอยู่กับการดำรงชีวิตและการทำมาหากินทำให้มองข้ามคำสอนของศาสนาไป และผลที่ตามมาก็คือ การเหินห่างจากวัด โอกาสที่คนไทยจะไปวัดก็คือวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งบางคนก็ไปเวียนเทียน หรือการเข้าไปทำพิธีทางศาสนา เช่น การถวายสังฆทานกับพระ ทำบุญ หรือไปงานศพ นอกเหนือจากนั้นก็มีเพียงงานมงคลเช่น การขึ้นบ้านใหม่ที่มีโอกาสใกล้ชิดกับพระ แต่ก็เป็นเพียงในแง่พิธีกรรมเท่านั้นไม่ใช่เรื่องการถกธรรมะ เรียนรู้เรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนา
สภาวะดังกล่าวได้นำไปสู่ความเป็นห่วงเป็นใยโดยคนบางกลุ่ม และได้มีการเสนอความคิดเห็นถึงแนวทาง ที่พุทธศาสนาและพระสงฆ์จะสามารถปฏิบัติหน้าที่สอนธรรมะแก่ประชาชนเพื่อยังผลต่อชีวิตที่มีความสงบและความเจริญก้าวหน้า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น จากสภาวะที่ศีลธรรมเสื่อมโทรมลงในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติ ที่ไม่สอดคล้องกับศีลธรรมและค่านิยม วัตถุนิยม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของสังคมสมัยใหม่ บทบาทของศาสนาในการนำมาซึ่งสังคมที่น่าอยู่ และมีความสงบสุข ได้กลายเป็นหัวข้อที่มีการเสวนากันในหมู่ประชาชนบางกลุ่ม จนมีการตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้ คือ
ประการแรก คำสอนของพระหรือการที่พระเทศนานั้นสามารถออกมาได้สองทาง ทางแรกคือ การเทศน์ถึงธรรมะขั้นสูงซึ่งเป็นปรัชญาขั้นลึกซึ้งสำหรับผู้ออกบวชซึ่งต้องการจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่จมอยู่ในโลกมายาและกิเลสของมนุษย์ผู้ครองเรือน คำสอนที่เรียกว่าไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นปรัชญาสำหรับผู้สนใจปรัชญาอย่างลึกซึ้ง หรือผู้ต้องการจะหลุดพ้น แต่สำหรับคนรุ่นหนุ่มปรัชญาดังกล่าวอาจจะไม่เป็นที่น่าสนใจนัก อีกทางหนึ่งของการเทศนาก็คือการเทศนาปรัชญาของผู้ครองเรือน เช่น การรักษาความสุขในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัว การประกอบธุรกิจค้าขาย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ด้วยเหตุใดก็ตาม พระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับคำสอนของผู้ครองเรือนดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความเห็นว่าในขณะที่การสอนธรรมะขั้นสูงยังคงต้องมีอยู่ต่อไปนั้น จุดเน้นควรจะเปลี่ยนมาที่ปรัชญาและหลักการของผู้ครองเรือนหรือฆราวาส โดยใช้หลักปรัชญาศาสนาพุทธทำให้ชีวิตมีความสมดุล มีความสงบสุข และมีปัญญาในการแก้ปัญหา
ประการที่สองกฎแห่งกรรมต้องมีการตีความในขอบข่ายที่กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยทั่วๆไปในอดีตที่ผ่านมากฎแห่งกรรมถูกมองดูเป็นตัวแปรที่กำหนดปรากฏการณ์ในปัจจุบันในลักษณะของบุพกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากในอดีต เช่น ความยากจนของคนก็เกิดจากกรรมเก่าโดยมองข้ามความบกพร่องของระบบการเมือง สังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่กฎแห่งกรรมอาจมองได้ในมิติที่ต่างกัน กล่าวคือ ขณะที่บุพกรรมอาจจะมีผลอยู่บ้างนั้น กรรมใหม่ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และส่งผลกระทบต่อชีวิต ทั้งทางลบและทางบวก เช่น นาย ก อาจจะไม่ได้ลักทรัพย์ของ นาย ข ในอดีต แต่นาย ข กำลังสร้างกรรมใหม่วางแผนลักทรัพย์ของ นาย ก ตามหลักแห่งกรรมในอดีตนั้น นาย ก จะปล่อยให้ นาย ข ลักทรัพย์ของตน และปล่อยให้หลักของกรรมทำให้ นาย ข ถูกลักทรัพย์คืนเรียกว่ากรรมตามสนองซึ่งเป็นวิธีคิดแบบโบราณ แต่การตีความหลักของกรรมอีกมิติที่แตกต่างออกไปก็คือ การที่ นาย ก ติดไฟให้สว่าง ใส่กุญแจสายยูป้องกันขโมยเท่ากับเป็นการสร้างกรรมใหม่มาป้องกันกรรมใหม่ที่จะมี่ผลในทางลบต่อตน สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาก็คือ ภายใต้ระบบที่ด้อยพัฒนากฎแห่งกรรมจะไร้ผล เช่น ไม่ว่า นาย ก ซึ่งเป็นข้าราชการจะขยันขันแข็งทำความดีแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถจะได้รับการเลื่อนขั้นเนื่องจากการเล่นพรรคเล่นพวก เพราะฉะนั้นทางออกก็คือต้องปรับปรุงระบบนั้นด้วยการปฏิรูปหรือปฏิวัติด้วยกรรมใหม่ หรือมิฉะนั้นก็ย้ายไปทำงานที่อื่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรรมใหม่ นอกเหนือจากนั้นประชาชนทั่วๆ ไปมีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำให้กฎแห่งกรรมได้ผล กล่าวคือ คนที่ทำความดีแต่สังคมมองไม่เห็นหรือเข้าใจผิด ก็ต้องพยายามเชิดชูผู้นั้นเพื่อให้กฎแห่งกรรมบรรลุผล กลับกัน ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนชั่วก็ต้องแฉโพยให้สังคมได้รับรู้เพื่อจะได้รับโทษตามสมควร และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยทำให้กฎแห่งกรรมได้ผลอันต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนทั่วไป การตีความกฎแห่งกรรมในลักษณะนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ประการที่สามเมื่อประชาชนห่างจากวัด วัดและพระสงฆ์ก็น่าจะเข้าไปหาประชาชน เป็นต้นว่า น่าจะมีการจัดให้มีเทศนาหรือสอนเกี่ยวกับหลักการศาสนาพุทธในโรงเรียนต่างๆ ให้กับนักเรียนและนักศึกษาโดยเป็นหลักการศาสนาพุทธทั่วไปรวมทั้งปรัชญาของการครองเรือน และที่สำคัญพอๆ กันก็คือ วัดน่าจะเป็นที่ที่ประชาชนเข้าไปพบปะกับพระสงฆ์องค์เจ้าได้ด้วยความสะดวก มีที่ให้นั่งบนเก้าอี้ ดื่มน้ำชา คุยธรรมะกับพระ หรือถามไถ่ปัญหาชีวิตเพื่อหาทางออก แทนที่จะเข้าไปนั่งพับเพียบซึ่งเป็นการทรมานร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก บรรยากาศที่เป็นกันเองและสะดวกสบายในการเข้าหาพระสงฆ์องค์เจ้าน่าจะทำให้เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้เป็นเรื่องใหม่และน่าจะพิจารณาแก้ไขอย่างรีบด่วน
ประการที่สี่ เพื่อที่จะให้คำสอนของพระสงฆ์สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ พระสงฆ์จะต้องขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อตามทันการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากยุคก่อน ในยุคโลกาภิวัตน์และข่าวสารข้อมูล ยุคของวัตถุนิยม ยุคของความคิดแบบใหม่ ค่านิยมแบบใหม่ เป็นสิ่งที่พระจะต้องเรียนร ู้เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการอธิบายด้วยปรัชญาทางศาสนาพุทธ ให้สอดคล้องกับความเข้าใจและการยอมรับของคนรุ่นใหม่ได้
เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ค่านิยมบางส่วนก็ต้องเปลี่ยนไป ยกเว้นแต่ค่านิยมซึ่งเป็นค่านิยมหลัก เช่น ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปรูปใดก็ตาม การลักทรัพย์ การฆ่าคนตาย การประพฤติผิดในกาม ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่การดื่มสุราซึ่งเป็นการปฏิบัติส่วนหนึ่งของสังคม เช่น การดื่มเชมเปญเพื่อฉลอง การดื่มไวน์ในงานพิธี ฯลฯ ถ้าไม่ถึงกับทำให้เมามายขาดสติก็คงจะมาถือเคร่งครัดได้ยาก การบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องใช้กุศโลบายหรือการต่อสู้ในทางการทูตซึ่งต้องใช้กลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีบางส่วนขัดต่อหลักการและปรัชญาของศาสนา ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามเข้าใจถึงมูลเหตุและความจำเป็น นอกจากนี้เมื่อสังคมและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ระบบการศึกษาและหลักสูตรในสถาบันการศึกษาก็คงต้องเปลี่ยนตาม และในส่วนของศาสนาคำสอนบางส่วนรวมตลอดทั้งพฤติกรรมก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนด้วย ถ้าไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือขัดเขินต่อคำสอนอย่างเห็นเด่นชัด เช่น ในสถานที่ที่มีการทำถนนเป็นคอนกรีตหรือลาดยางมะตอย จะให้พระเดินโดยไม่สวมรองเท้าแตะบนถนนซึ่งมีอุณหภูมิร้อน ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องถือเคร่งครัดนัก เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาความบริสุทธิ์ของจิตใจแต่อย่างใด ในบางกรณีในประเทศเขตหนาวที่มีหิมะตกจะให้พระเดินทางเท้าเปล่าบนหิมะก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ หรือการให้พระนอนกับพื้นในฤดูหนาวซึ่งอุณหภูมิที่ต่ำจนร่างกายรับไม่ได้ก็คงปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้น พระที่เดินทางไปต่างประเทศในฤดูหนาวจึงต้องสวมเสื้อโอเวอร์โคท รวมทั้งสวมรองเท้าบูต และนอนฟูก เพราะถ้าไม่กระทำเช่นนั้นก็อาจจะเกิดอันตรายต่อสังขารได้ และเมื่อสังขารถูกกระทบก็จะเป็นอุปสรรคต่อการโปรดสัตว์เนื่องจากอาพาธ
การปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ผิดปกติแต่อย่างใด และว่าไปแล้วธรรมะหลายข้อในทางศาสนาพุทธก็ตราขึ้นหลังจากมีเหตุการณ์ที่ส่งผลในทางลบ โดยการตั้งเป็นกฎและเป็นศีล ซึ่งเท่ากับเป็นการตั้งกฎเกณฑ์มาเพื่อแก้ไขปัญหา และเมื่อปัจจุบันมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นความจำเป็นในการปรับตัว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าไม่เป็นการกระทำที่เลยเถิดจนขัดต่อหลักการพื้นฐานอันสำคัญ ..